ทำอย่างไร..หากเกิดอาการง่วงแล้วต้องขับรถ

เคล็ดลับง่ายๆ สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์-จักรยานยนต์

“นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์” ประธานกรรมการทุนง่วงอย่าขับ มูลนิธิรามาธิบดีในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ตัวเลขของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนนั้น เป็นสัดส่วนของผู้ที่ง่วงแล้วขับสูงถึงร้อยละ 30-40 ซึ่งในต่างประเทศให้ความสนใจ และตื่นตัวในการรณรงค์ความปลอดภัยจากการง่วงแล้วขับรถเป็นอย่างมาก โดยการมุ่งเน้นการให้การศึกษาแก่ประชาชนผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์

 

ความง่วง ถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทั่วโลก เพราะความง่วงทำให้ประสิทธิภาพการขับขี่แย่ลงเหมือนคนเมา ประสาทสัมผัสช้าลง ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด แต่ที่ร้ายที่สุดคือ อาการหลับใน ซึ่งสมองภายในหลับไปแวบหนึ่ง โดยสังเกตจากภายนอกไม่ได้

 

สภาพของ “คนหลับใน” นั้น เท่ากับคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาตและหมดสติชั่วครู่ ซึ่งการง่วงหลับในเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ และเกิดขึ้นเองกับคนที่ง่วงจัด ซึ่งมีอาการหาวนอนไม่หยุด ลืมตาไม่ขึ้น สายตาโฟกัสภาพไม่ชัด และเริ่มควบคุมพวงมาลัยไม่ได้ ถ้าฝืนขับต่อจะเกิดอาการหลับในได้ในที่สุด

 

“อาการหลับในนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทันที จะมีอาการง่วงเป็นสัญญาณเตือนมาก่อนเสมอ โดยความง่วงที่ทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทำให้เกิดอาการหลับในได้ในที่สุด และจากการศึกษาของมูลนิธิที่ได้ทำการสำรวจคนขับรถหลายประเภท ผ่านแบบสอบถาม พบว่า ร้อยละ 28-53 เคยหลับขณะขับรถมาแล้ว และสาเหตุในการง่วงแล้วขับรถที่พบบ่อยที่สุด คือ อดนอน นอนไม่พอ สาเหตุอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การกินยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ รวมไปถึงโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ และสาเหตุใหญ่คงหนีไม่พ้นแอลกอฮอล์ เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์นั้น ไม่ต่างกับยานอนหลับ” นพ.มนูญ กล่าว

 

น.ส.ชลีภรณ์ จิระเลิศพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เขาช่องอุตสาหกรรม 1979 จำกัด ในฐานะของผู้สนับสนุนโครงการ “ง่วงอย่าขับ” ซึ่งได้จัดทำป้ายรณรงค์จำนวน 100 ป้าย เพื่อเตือนผู้ขับขี่ในการใช้เส้นทางทั่วประเทศ ได้แนะเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสำหรับ ผู้ขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ว่า หากคุณรู้สึกง่วงแล้วคุณยังจำเป็นต้องขับขี่บนท้องถนนต่อไป โดยยังไม่สามารถหยุดพักได้ล่ะก็ คุณสามารถป้องกันการหลับในด้วยวิธีง่ายๆ อาทิ

 

- จิบน้ำทีละนิดเพื่อให้ร่างกายสดชื่น

 

- ดื่มเครื่องดื่มโปรตีนเพื่อเพิ่มความกระฉับกระเฉงให้ร่างกาย

 

- เตรียมของขบเคี้ยว เช่น หมากฝรั่ง บ๊วย ลูกอม เพื่อขบเคี้ยวระหว่างขับรถ

 

- เปิดหน้าต่าง ฟังวิทยุ ให้ลมโชยปะทะหน้า เปิดเพลงดังๆ ที่มีจังหวะเร็วๆ และร้องตามไปด้วย

 

- ดื่มกาแฟ 1-2 แก้ว หรือเครื่องดื่มชูกำลังที่มีกาเฟอีน 1-2 ขวด เพื่อคลายความง่วง

 

- หากคุณง่วงจัด ควรทำให้ตัวเองเจ็บ เพื่อให้ตาสว่างชั่วคราว โดยการใช้ปลายเล็บของนิ้วโป้งจิกลงบนโคน หรือจมูกเล็บของปลายนิ้วก้อยของมือข้างเดียวกัน ทางที่ดีควรจะหาที่จอดรถในที่ที่ปลอดภัยเพื่อหยุดพัก และหลับสักงีบก่อนเดินทางต่อ เช่น ปั๊มน้ำมัน ป้อมตำรวจ หรือบริเวณชุมชน

 

เคล็ดลับง่ายๆ ที่ฝากไว้สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกท่าน “กันไว้ดีกว่าแก้” ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


Content's Picture

Comment(s)


Vote this Content ?

Create by :


automechanic

Status : ผู้ใช้ทั่วไป
เครื่องกล