โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง ชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด
โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง ชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด
ผู้จัดทำ นายจตุพร คชฤทธิ์
นายฐานันดร์ จันทร์เต็ม
นายธีรชัย ชะนิดนอก
นายปัณณวัฒน์ ยุทธ์ธนประเสริฐ
นางสาวรุ้งนภา บุญถนอม
อาจารย์ที่ปรึกษา นายพัฒนพงษ์ อ้นเถื่อน นายพงศกร แสนขาว และนางสาวทักษพร สมสี
บทคัดย่อ
โครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เรื่อง ชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด มีจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้าดังนี้ 1) เพื่อออกแบบและสร้างชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด 2) เพื่อทดสอบและหาประสิทธิภาพการตรวจจับของชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด 3) เพื่อทดสอบและหาประสิทธิภาพการพ่นยาของชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการใช้งานชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลออกแบบและสร้างชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด พบว่า การประเมินคุณภาพของการออกแบบและสร้างเครื่องจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการออกแบบและโครงสร้าง ด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ และด้านการทำงานฮาร์ดแวร์ มีผลการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง 3 ท่าน ปรากฏว่า โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.68 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ 4.51-5.50 แสดงว่าผลการประเมินด้านการออกแบบและโครงสร้างนี้ มีคุณภาพดีมากที่สุด
2. ผลการทดสอบประสิทธิภาพการตรวจจับของชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด พบว่า ในการทดสอบการตรวจจับโรคใบจุดในผักกวางตุ้งที่มีโรคใบจุดทั้งหมด 30 ครั้ง กล้องสามารถตรวจพบโรคใบจุดเป็นจำนวน 25 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 83.33
3. ผลการทดสอบประสิทธิภาพการพ่นยาของชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด พบว่า ในการทดสอบการตรวจจับโรคใบจุดในผักกวางตุ้งที่มีโรคใบจุดทั้งหมด 30 ครั้ง กล้องสามารถตรวจพบโรคใบจุดและพ่นยาเป็นจำนวน 25 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 83.33
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจในการใช้งานชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบ พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้งานชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 10 คน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.15 ซึ่งจากผลการประเมินแสดงให้เห็นว่า ชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุดมีคุณภาพและประสิทธิภาพตามขอบเขตของการศึกษา
ดังนั้น ชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด ที่พัฒนาขึ้น ทำให้เราประหยัดเวลา สะดวกต่อการใช้งาน และการออกแบบยังคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นสำคัญอีกด้วย